ประวัติ วัดเก๋ง

วัดเก๋ง หรือ วัดจันทอุดม จังหวัดระยอ

วัดเก๋งหรือวัดจันทอุดมในอดีตเคยเป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดระยอง ปัจจุบันร้างไปแล้ว คงเหลือแต่ชื่อและเจดีย์เก่าแก่อีก 1 องค์เท่านั้น ที่ดินเดิมของวัดเก๋งอยู่ในความครอบครองของวัดป่าประดู่ ปัจจุบันอนุญาตให้กระทรวงสาธารณสุขใช้เป็นที่สร้างโรงพยาบาลระยอง ฉะนั้น เจดีย์องค์นี้จึงอยู่ภายในโรงพยาบาลระยอง ทางโรงพยาบาลเป็นผู้ดูแลรักษา อาณาเขตเหลือเพียงเท่าฐานขององค์เจดีย์มีรั้วกันโดยรอบ เจดีย์นี้สร้างในสมัยพระยาศรีสุนทรโภคชัยโชคชิตสงคราม ซึ่งเป็นเจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดระยอง และกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2538 องค์เจดีย์มีลักษณะทรงระฆัง ฐานเชิงบาตรและบัวมาลัยได้สัดส่วน ก้านฉัตรประกอบด้วยเสาลูกมะหวด โดยส่วนต่าง ๆ ของเจดีย์ครบแบบรูปลักษณ์ของเจดีย์มาตรฐานทั่วไป นับจากฐานเขียงขึ้นไปจนถึงยอดเจดีย์ได้สัดส่วนรับกันอย่างเหมาะเจาะ แม้จะเสริมฐานเขียงให้สูงขึ้นไปก็ตาม จึงนับได้ว่าเป็นเจดีย์ที่สวยงามองค์หนึ่ง แม้ปลียอดและหยาดน้ำค้างจะหักหายไปก็ตาม เจดีย์นี้สร้างขึ้นรุ่นเดียวกับเจดีย์กลางน้ำระยอง วัดเก๋งนี้เดิมเคยใช้เป็นวัดที่ประกอบพิธีต่าง ๆ ของทางราชการ เช่น พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการ แม้ว่าในปัจจุบันวัดเก๋งจะเป็นวัดที่เหลือเพียงแต่ชื่อแล้วก็ตาม แต่ เจดีย์วัดเก๋ง ยังคงเป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองระยอง ซึ่งชาวระยองให้ความสำคัญกราบไหว้บูชาและอธิษฐานขอพร โดยเฉพาะผู้ที่มารักษาตัวในโรงพยาบาลระยองและญาติพี่น้องต่างก็มากราบไหว้สักการะบูชาด้วยจิตใจที่ศรัทธาอย่างแรงกล้า เจดีย์วัดเก๋ง
///ข้อมูล จากกระทรวงวัฒนธรรม////

ประวัติหอนาฬิกา ระยอง

หอนาฬิกา
 
 หอนาฬิกาของจังหวัดระยอง ในอดีตตั้งอยู่ที่หน้าโรงหนังเทศบันเทิง ติดถนนสุขุมวิท ในปัจจุบันหอนาฬิกาเดิมได้รื้อไปแล้ว หอนาฬิกาเดิมสร้างขึ้นในสมัยผู้ว่า ดำรง สุนทรศารทูล เมื่อ พ.ศ. 2510 ส่วนโรงหนังเทศบันเทิงในปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้งเทศบันเทิงพลาซ่า และทางเทศบาลนครระยองได้สร้างหอนาฬิกาขึ้นที่เทศบันเทิงพลาซ่าแทนหอนาฬิกาเดิม เมื่อ พ.ศ.2547
โรงหนังเทศบันเทิง หลังหอนาฬิกา แต่ก่อนโด่งดังมาก

ท่ารถ หน้าหอนาฬิกา ตรงข้าม ธนาคารกรุงเทพ

                                                  ถนน สุขุมวิท หน้าหอนาฬิกา
หอนาฬิกา ปัจจุบัน 

ประวัติเจเดีย์กลางน้ำ ระยอง

ประวัติเจดีย์กลางน้ำ จังหวัดระยอง
    พระเจดีย์กลางน้ำ อยู่ในเขตตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง ฯ เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดย่อม สูงประมาณ ๑๐ เมตร ตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำระยอง ท่ามกลางป่าชายเลน มีน้ำล้อมรอบ พื้นที่ประมาณ ๕๒ ไร่ มีสะพานไม้ลูกระนาดข้ามไปสู่พระเจดีย์
พระเจดีย์องค์นี้สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๖ ในสมัยพระยาศรีสมุทรโภคชัยชิตสงคราม (เกตุ ยมจินดา) เป็นเจ้าเมืองระยอง สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ชาวเรือ หรือผู้โดยสารเรือที่เดินทางผ่านเข้าไปถึงบริเวณนั้นได้ทราบว่า เข้ามาถึงเมืองระยองแล้ว สันนิษฐานว่า สร้างเจริญรอยตามแบบพระสมุทรเจดีย์ หรือพระเจดีย์กลางน้ำเมืองสมุทรปราการ
พระเจดีย์กลางน้ำองค์นี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดระยอง เป็นส่งที่ชาวระยองเคารพสักการะมาก ประมาณกลางเดือนสิบสองของทุกปี ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก จะมีงานประเพณีทอดกฐิน งานห่มผ้าเจดีย์กลางน้ำ นอกจากนั้นมีงานลอยกระทง และแข่งเรือยาวด้วยเป็นที่สนุกสนาน
ประเพณีห่มผ้าเจดีย์นั้น ผ้าที่นำมาห่มจะต้องเป็นผ้าสีแดง มีความยาว ๖ เมตร ใช้คนสองคนปีนขึ้นไปห่มส่วนบนของพระเจดีย์ บริเวณรอบ ๆ องค์เจดีย์มีการปลูกป่าสนเป็นที่ร่มรื่นสวยงาม เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองในเวลาว่าง



ประวัติเกาะเสเก็ต

ประวัติเกาะสเก็ต ระยอง
     ในอดีต เกาะสะเก็ด เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดระยองมานาน เป็นเกาะเล็ก ๆ ห่างจากหาดทรายทองเพียง 3 กิโลเมตรเท่านั้น พื้นที่บนเกาะประมาณ 30 ไร่ อยู่ในเขตเทศบาลมาบตาพุด อ.เมืองระยอง มีนายเพชร สุวรรณกูฎ เป็นผู้ได้รับสัมปทานและปรับปรุง ให้เป็นสถานที่พักตากอากาศโดยการสร้างบ้านพักบนเกาะจำนวนหลายสิบหลัง มีนักท่องเที่ยวไปใช้บริการไม่ขาดสาย แต่ปัจจุบันไม่มีบ้านพักแล้ว ส่วนบริเวณหาดทรายทอง มีนักธุรกิจชาวระยองลงทุนสร้างบ้านพักตากอากาศ มากมาย ต่อมาได้มีการพัฒนาพื้นที่ชาย ฝั่งทะเลตะวันออกเป็นแหล่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทำให้พื้นที่ติดกับหาดทรายทอง กว่า 6,000 ไร่ ถูกเวนคืนก่อ สร้างการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นที่ตั้งโรงงานขนาดใหญ่มากกว่า 50 โรงงานและมีการถมทะเลออกไป เพื่อขยายที่ตั้งโรงงานเพิ่มขึ้น ทำให้คลื่นลมทะเลกัดเซาะบริเวณหาดทรายทองและบ้านเรือนราษฎร บริเวณชายหาดพัง เสียหายการนิคมอุตสาหกรรม จึงได้สร้างเขื่อนบริเวณหาดทรายทอง ทำให้หาดทรายทองกลายสภาพมาเป็นเขื่อน เหลือ แต่ชื่อหาดทรายทองที่อยู่ในความทรงจำ ของชาวบ้านและนักท่องเที่ยวจนทุกวันนี้ หลังมีการตั้งโรงงานปิโตรเคมีได้ไม่นาน สภาพอากาศบริเวณหาดทรายทองเต็มไปด้วยมลภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ นักท่องเที่ยวเริ่มหนีไปเที่ยวที่อื่น ธุรกิจบ้านพักตากอากาศบนฝั่งและที่เกาะสะเก็ดต้องล่มสลาย เกาะสะเก็ดถูกปล่อยทิ้งรกร้างมานาน การนิคมอุตสาหกรรมได้จ่ายค่าชดเชยให้กับเจ้าของสัมปทานเกาะ หลังจากนั้น ต่อมาการนิคม ฯ ได้ส่งมอบเกาะให้กับทางจังหวัด ทางจังหวัดก็มอบให้กับทางเทศบาลมาบตาพุด ซึ่งเป็นเจ้าของ พื้นที่ดูแลรับผิดชอบแทน สภาพหาดทรายทองในปัจจุบันเห็นลิบๆคือเกาะสะเก็ด และโรงไฟฟ้า
ขณะนี้การนิคม ฯ ได้ถมทะเลออกไปและห่างจากเกาะสะเก็ดเพียง 300 เมตรเท่านั้น เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินบีแอลซีพี ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมของบริษัทบ้านปูและบริษัท บีแอลซีของประเทศฮ่องกง เกาะสะเก็ดเป็นเกาะเล็ก ๆ อยู่ห่างชายฝั่งตะกวนเพียง 2 กม.
เครติด// ขอบคุณ กนิษฐ์ ที่ไห้ข้อมูลและภาพ  http://www.oknation.net/blog/kanis




ประวัติระยอง

ประวัติ ความเป็นมา จังหวัดระยอง

       ชนเผ่าชอง
                 เป็นชาวพื้นเมืองดั้งเดิมเผ่าหนึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณชายทะเลภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย ในเขตจังหวัดระยองและจันทบุรี มีความชำนาญในป่าเขาลำเนาไพร มีภาษาพูดของตนเอง นิยมใช้ลูกปัดสีต่าง ๆ และทองเหลืองเป็นเครื่องประดับ จัดอยู่ในสายตระกูลมอญ - เขมร เชื่อว่าอยู่ในถิ่นนี้มาก่อนสมัยสุโขทัย มีอิทธิพลของภาษาสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน แต่ไม่มีภาษาเขียน      ประเพณีบางอย่างของชาวชอง ได้มีการปฎิบัติสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ โดยไม่ถูกกลืนหรือเลือนหายไปเช่น ประเพณีการแต่งงานลูกสาวคนโต ประเพณีการเล่นผีหิ้ง และประเพณีการเล่นผีโรง เป็นต้น     ปัจจุบันแทบไม่มีชนเผ่าชองเหลืออยู่ในเขตจังหวัดระยองแล้ว คงมีเหลืออยู่ในป่าเขาในเขตจังหวัดจันทบุรี  เพราะชนเผ่านี้ไม่ชอบอยู่ในย่านชุมชน การสูญพันธุ์ของพวกชองน่าจะเกิดจากถูกคนไทยเรากลืนชาติ เช่นเดียวกับชนเผ่าโบราณอีกหลายเผ่าที่เคยอาศัยอยู่ในถิ่นนี้มาก่อน
ชนเผ่าชอง
         

       ที่มาของคำว่าระยอง

       คำว่า ระยอง ไม่มีคำอธิบายอยู่ในพจนานุกรม ไม่มีคำแปลอยู่ในภาษาไทย สันนิษฐานว่าเป็นภาษาของชอง คือ คำว่า ราย็อง ในภาษาชองแปลว่า เขตแดน หมายถึง ดินแดนหรือเขตแดนที่พวกชองตั้งรกรากอยู่ ต่อมาได้เพี้ยนมาเป็นระยอง ดังที่เป็นอยู่ปัจจุบัน       นอกจากนั้นคำว่า ราย็อง ในภาษาชองยังแปลว่าไม้ประดู่ หรือต้นประดู่ เนื่องจาบริเวณที่ตั้งเมืองระยอง แต่เดิมเต็มไปด้วยต้นประดู่ มีวัดเก่าแก่คู่กับเมืองระยองมีชื่อว่า วัดป่าประดู่             

         การสร้างเมือง 

           จากสภาพแวดล้อมและหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ทำให้เชื่อได้ว่าเมืองระยอง น่าจะได้ตั้งขึ้นมาแล้วในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ อันเป็นสมัยที่ขอมกำลังเรืองอำนาจในดินแดนสุวรรณภูมิ ที่นักโบราณคดีเรียกว่า สมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๙) ครั้งนั้นขอมมีเมืองนครธมเป็นราชธานี ได้แผ่อำนาจเข้ามาครอบครองถึงอาณาจักรทวารวดี ซึ่งเป็นดินแดนส่วนใหญ่ในภาคกลางของไทยในปัจจุบันแทนที่พวกมอญ โดยขอมได้ตั้งอุปราชเข้ามาปกครอง ดูแลดินแดนแถบนี้อยู่ที่เมืองลพบุรี       ส่วนดินแดนภาคอื่น ๆ ได้แก่ ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของไทย ในปัจจุบัน ขอม ได้เข้ามาปกครองโดยตรง เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอมได้สร้างเมืองนครพนม เป็นเมืองหน้าด่านแรก มีเมืองพิมายเป็นเมืองอุปราช ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ขอมได้สร้างเมืองจันทบูร (จันาบุรี) เป็นเมืองหน้าด่าน ด้วยเหตุนี้จึงปรากฎโบราณสถานและโบราณวัตถุ ที่สร้างขึ้นในสมัยลพบุรีกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่บริเวณนี้กว่า ๑๐ จังหวัด ในอาณาจักรไทยปัจจุบัน      เมืองระยองซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชิดมีเขตแดนติดต่อกับจันทบูร จึงเชื่อว่าระยองจะต้องเป็นเมืองหนึ่ง ซึ่งขอมได้สร้างขึ้นแต่ครั้งนั้น คูเมืองแนวคันดินที่น่าจะเป็นเชิงเทิน หรือกำแพงเมืองที่ปรากฎอยู่ซากศิลาแลง ซากโบราณวัตถุที่เป็นหินสลักรูปต่าง ๆ ที่พบที่บ้านดอน อำเภอเมือง ฯ และที่บ้านคลองยายล้ำ ตำบลบ้านค่าย พอเป็นหลักฐานถึงความเป็นเมืองเก่าสมัยลพบุรีของเมืองระยอง          

      หลักฐานทางประวัติศาสตร์ 

        ระยองเริ่มมีชื่อปรากฎในอัยการตำแหน่งนายทหารหัวเมือง เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๘ ในรัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ระบุเมืองระยองเป็นหัวเมืองชั้นตรี มีเจ้าเมืองตำแหน่งออกพระราชภักดีสงคราม ส่วนการปรากฎชื่อเมืองระยองในพงศาวดาร เริ่มในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา มีความตอนหนึ่งว่า          "พระยาละแวก แต่งพลมาลาดตระเวณทั้งทางบกและทางเรือหลายครั้ง และเสียชาวจันทบูร ชาวระยอง ชาวฉะเชิงเทรา ชาวนาเริ่งไปแก่ข้าศึกละแวกเป็นอันมาก"          

       การตั้งเมือง 

                ที่ตั้งของเมืองระยองในปัจจุบัน อยู่ในเขตตำบลท่าประดู่ อำเภอเมือง ฯ ส่วนเมืองเก่ามีหลักฐานร่องรอยอยู่สองแห่งคือ ในเขตตำบลบ้านเก่า อำเภอบ้านค่ายแห่งหนึ่ง และที่บ้านในซึ่งติดต่อกับบริเวณสะหมู่ของบ้านดอน ตำบลหนองบัว (ปัจจุบันเป็นตำบลเชิงเทิน) อำเภอเมือง ฯ อีกแห่งหนึ่ง     ที่ตำบลบ้านเก่า อำเภอบ้านค่าย ซึ่งอยู่ห่างจากตำบลเชิงเทิน อำเภอเมือง ฯ ประมาณ ๓ กิโลเมตร ดูจะมีน้ำหนักและเป็นที่แพร่หลายมากกว่า
       

ลำดับการพัฒนาการทางประวัติศาตร์  

    การพัฒนาการของเมืองระยอง
           หลังจากที่เมืองระยองได้ย้ายจากตำบลบ้านเก่ามาตั้งอยู่ที่ตำบลท่าประดู่แล้ว ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับคือ  เมืองระยองในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นจัตวา เป็นหัวเมืองชั้นนอก ขึ้นสังกัดกับกรมท่า หัวเมืองชั้นนอกที่ขึ้นสังกัดกรมท่าในครั้งนั้นมีสามเมืองคือ เมืองระยอง เมืองจันทบูร และเมืองตราด    
                ปี พ.ศ.๒๔๔๙ เมืองระยองขึ้นกับมณฑลจันทบุรี โดยมีเมืองตราด และเมืองประจันตคีรีเขต (เกาะกง) ขึ้นอยู่กับมณฑลจันทบูรด้วย                       ปี พ.ศ.๒๔๕๑ โอนอำเภอเมืองแกลงมาขึ้นกับเมืองระยอง จากเดิมนั้นขึ้นอยู่กับเมืองจันทบุรี เมืองแกลงนี้เดิมเป็นเมืองจัตวาคู่กับเมืองขลุง เมืองแกลงถูกยุบเป็นอำเภอแกลงในปีเดียวกันนี้ มีหลวงแกลงแกล้วกล้า (ศรี บุญศิริ) เป็นนายอำเภอคนแรก    
                ปี พ.ศ.๒๔๕๔ เมืองระยองได้แบ่งเขตการปกครองออกเป็นสามอำเภอคือ อำเภอเมือง ฯ อำเภอแกลง และอำเภอบ้านค่าย  
                ปี พ.ศ.๒๔๕๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนชื่อเมืองระยองมาเป็นจังหวัดระยอง และยังขึ้นต่อมณฑลจันทบุรี              
                ปี พ.ศ.๒๔๗๔ ยุบมณฑลจันทบุรี จังหวัดระยองย้ายไปขึ้นกับมณฑลปราจีนบุรี              
                ปี พ.ศ.๒๔๗๖ ยกเลิกระบบเทศาภิบาล มณฑลต่าง ๆ ถูกยุบ และให้ถือจังหวัดเป็นเขตการปกครองใหญ่ในส่วนภูมิภาค จังหวัดระยองจึงขึ้นต่อกระทรวงมหาดไทย              
                ปี พ.ศ.๒๔๘๔ มีการจัดตั้งภาคขึ้นมาควบคุมดูแลทำนองเดียวกับมณฑล จังหวัดระยองขึ้นอยู่กับภาค ๒ ในจำนวน ๕ ภาค ที่ทำาการภาคตั้งอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี ต่อมาได้ย้ายมาอยู่กับภาค ๑ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖ มีที่ทำการภาคอยู่ที่กรุงเทพ ฯ ผู้มีหน้าที่ควบคุมดูแลภาคเรียกว่า ข้าหลวงตรวจการภาค              
                ปี พ.ศ.๒๔๙๕ กำหนดให้มี ๙ ภาค มีผู้ว่าราชการภาค ปกครองบังคับบัญชา จังหวัดระยองขึ้นอยู่กับภาค ๒ มีที่ทำการภาคอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา              
                ปี พ.ศ.๒๕๐๐ ยกเลิกการปกครองระบบแบ่งเขตการปกครองเป็นภาค คงให้จังหวัดเป็นหน่วยราชการส่วนภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด                               ปี พ.ศ.๒๕๑๓ จังหวัดระยองแบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๓ อำเภอ ๑ กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ฯ อำเภอแกลง อำเภอบ้านค่าย และกิ่งอำเภอปลวกแดง (เป็นอำเภอปลวกแดงในปี พ.ศ.๒๕๒๒)              
                ปี พ.ศ.๒๕๑๖ จังหวัดระยองมี ๓ อำเภอกับ ๒ กิ่งอำเภอคือ เพิ่มกิ่งอำเภอบ้านฉาง (เป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘)              
                ปี พ.ศ.๒๕๒๐ จังหวัดระยองมี ๓ อำเภอกับ ๓ กิ่งอำเภอคือ เพิ่มกิ่งอำเภอวังจันทร  (เป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔)              
                ปี พ.ศ.๒๕๒๒ จังหวัดระยองมี ๔ อำเภอกับ ๒ กิ่งอำเภอ โดยกิ่งอำเภอปลวกแดงถูกยกฐานะเป็นอำเภอ              
                ปี พ.ศ.๒๕๒๘ จังหวัดระยองมี ๕ อำเภอกับ ๑ กิ่งอำเภอ โดยกิ่งอำเภอบ้านฉางถูกยกฐานะเป็นอำเภ อ              
                ปี พ.ศ.๒๕๓๔ จังหวัดระยองมี ๖ อำเภอ โดยกิ่งอำเภอวังจันทร ถูกยกฐานะเป็นอำเภอ              
                ปี พ.ศ.๒๕๓๖ จังหวัดระยองมี ๖ อำเภอ กับ ๑ กิ่งอำเภอคือ กิ่งอำเภอเขาชะเมา              
                ปี พ.ศ.๒๕๓๙ จังหวัดระยองมี ๖ อำเภอกับ ๒ กิ่งอำเภอ คือเพิ่มกิ่งอำเภอนิคมพัฒนา              
                ปี พ.ศ.๒๕๔๑ จังหวัดระยองยังคงมีเขตการปกครองเป็น ๖ อำเภอกับ ๒ กิ่งอำเภอ แยกเป็นองค์การบริการส่วนตำบล ๕๔ ตำบล เทศบาล ๓ แห่ง สุขาภิบาล ๑๓ แห่ง หมู่บ้าน ๔๑๒ หมู่บ้าน